..
พรหมวิหาร 4 ..หมายถึง.. ที่อยู่แห่งความประเสริฐ 4 ประการ
..
เป็นธรรมที่ช่วยให้ การดำรงอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นไปอย่างมีความสุข
ทั้งการอยู่กับครอบครัว กับญาติพี่น้อง กับเพื่อนฝูง กับเจ้านาย กับลูกน้อง
..
จึงถือเป็นธรรมต้นแบบ ในการต่อยอดไปสู่การเป็น “ผู้นำ” ที่ดี
อันประกอบด้วย
..
"เมตตา" หมายถึง เกิดความรู้สึกในใจ อยากเห็นผู้คนมีความสุข
เป็นความรู้สึกของผู้นำที่ต้องการเห็นผู้ตามเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
จึงทำให้เกิดเป็นความเห็นอกเห็นใจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
เกิดปิติสุขขึ้นในใจเป็นอันดับแรก
ครั้นพอเมื่อรู้สึกแล้ว .. ก็เกิด “ความกรุณา”.. ตามมา
..
"กรุณา" หมายถึง อยากให้ผู้คนพ้นทุกข์
เป็นแนวทางของผู้นำ ที่อยากให้ความช่วยเหลือ ให้ข้อเสนอแนะ
ผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้ตามได้รับความสุขความเจริญ
ทั้งในด้านหน้าที่การงาน และด้านการใช้ชีวิตครอบครัว
เมื่อเกิดการแบ่งปันความรู้ แบ่งปันความสามารถ
จึงทำให้ระบบการทำงานเป็นไปได้ดีอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งผลต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นลำดับต่อไป
..
"มุทิตา" หมายถึง ยินดีเมื่อเห็นผู้คนมีความสุข
เป็นแนวทางของผู้นำ ที่รู้สึกยินดี มีความสุขไปกับทุกคนด้วย
เมื่อได้เห็นความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน
ผู้ตาม หรือ เพื่อนร่วมงาน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
รู้สึกปลาบปลื้มปิติ อันเกิดจากความรักอย่างจริงใจให้กันและกัน
เข้าใจได้ว่า .. การแข่งขันกับใจตัวเองเท่านั้น
ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการแข่งขันกับคนอื่น
..
"อุเบกขา" หมายถึง ปล่อยวางใจให้สงบ เข้าใจธรรมชาติในการทำงาน
เป็นภาวะผู้นำ สำหรับการวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
พร้อมช่วยเหลือทุกคน ตามกำลังที่พอจะช่วยเหลือได้
โดยไม่เดือดร้อนต่อตัวเองและผู้อื่น
ไม่ช่วยเหลือมากเกินไป..จนผู้ตามทำงานไม่เป็น
ไม่ช่วยเหลือน้อยเกินไป..จนผู้ตามทำงานไม่ได้
..
..
ฉะนั้น .. แนวทางการใช้ พรหมวิหาร 4 ในการบริหารนั้น
จึงเป็นแนวทางของจิตใจที่งดงามเป็นหลักเบื้องต้น
เมื่อผู้นำมีจิตใจที่ดี มีทัศนคติที่ดี มีความรู้สึกที่ดี
ก็จะทำให้เกิดความคิดที่ดี .. ส่งต่อไปเป็นการกระทำที่ดี
การกระทำที่ดี ก็ย่อมส่งผลลัพธ์ให้เกิดเป็นความเจริญก้าวหน้าที่ดี ต่อเนื่องตามกันไป
..
จึงเปรียบเสมือนเอาตัวเองไปอยู่บนวิหาร สวรรค์ชั้นพรหม โดยที่ยังมีลมหายใจอยู่ .. นั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น